Monday, March 11, 2013

ขุมทรัพย์ทางปัญญา /KM Thailand

      ในองค์กรทุกองค์กร มี “กรุขุมทรัพย์ทางปัญญา” อยู่ กรุขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญคือความรู้ที่มีอยู่ภายในคน ที่เป็นสมาชิกขององค์กรนั่นเอง ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่ตระหนักถึง ไม่ให้คุณค่า ไม่มีวิธีปลดปล่อยออกมา ก็เหมือนไม่มี




        ในโลกนี้มีขุมทรัพย์ (Assets, Capital) ซ่อนอยู่ทั่วไป  ทั้งที่เป็นขุมทรัพย์เชิงรูปธรรมจับต้องได้  และที่เป็นขุมทรัพย์เชิงนามธรรม    ทั้งที่เป็นขุมทรัพย์มโหฬาร และขุมทรัพย์เล็กๆ     ขุมทรัพย์เหล่านี้ฝังแฝงอยู่ทั่วไป     รอให้ผู้คนรับรู้และให้คุณค่า    และนำมาสร้างคุณค่า (และมูลค่า) ในบริบทใหม่ๆ     ขุมทรัพย์เหล่านี้ มีอยู่ สั่งสม ยกระดับ สร้างเพิ่ม ได้หลากหลายรูปแบบ    ขุมทรัพย์เหล่านี้ “มีอยู่แบบไม่มี” และ “เหมือนไม่มี แต่มีอยู่”     องค์กรเคออร์ดิค เป็นองค์กรที่มีความสามารถนำเอาขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ในรูปแบบดังกล่าว มาสร้างคุณค่าและมูลค่า เป็นวงจรไม่รู้จบ



ในที่นี้จะกล่าวถึงขุมทรัพย์เชิงนามธรรม จับต้องไม่ได้ ที่เรียกว่า “ขุมทรัพย์ทางปัญญา”

เรียนรู้การ “เปิดกรุ” ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ในองค์กรทุกองค์กร มี “กรุขุมทรัพย์ทางปัญญา” อยู่     องค์กรเคออร์ดิค ทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนแน่นอน    แต่มีวิธีทำงานหรือยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม     แต่ไม่ว่าในสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมใด องค์กรเคออร์ดิคต้อง “นำสินทรัพย์มาเป็นทุน” (เปลี่ยน assets เป็น capital) ดำเนินการเสมอ    โดยการเปิดกรุขุมทรัพย์ที่มีอยู่ภายในองค์กร    
กรุขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญคือความรู้ที่มีอยู่ภายในคน ที่เป็นสมาชิกขององค์กรนั่นเอง     ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่ตระหนักถึง ไม่ให้คุณค่า ไม่มีวิธีปลดปล่อยออกมา ก็เหมือนไม่มี     วิธีปลดปล่อยขุมทรัพย์นี้ คือ SST – Success Story Technique ซึ่งได้เขียนไว้โดยพิสดารในหนังสือ “ผู้บริหาร องค์กรอัจฉริยะ ฉบับนักปฏิบัติ”   โดยวิจารณ์ พานิช ที่เพิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ นี้เอง  

เรียนรู้การ “สร้างกรุ” ขุมทรัพย์ทางปัญญา
องค์กรเคออร์ดิค มี “การจัดการความรู้” และ Success Story Technique เป็นเครื่องมือ “เปิดกรุขุมทรัพย์ทางปัญญา”     นำเอาปัญญาปฏิบัติออกจากกรุซึ่งเป็นที่ซ่อนเร้น    ออกสู่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเวทีที่มีชีวิต มีชีวิตชีวา สนุกสนานและภาคภูมิใจ    และที่สำคัญ ออกจากกรุซึ่งมีความหยุดนิ่ง ไปสู่การปฏิบัติ ที่มีความเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลง    
องค์กรเคออร์ดิค มีลักษณะแปลก ตรงที่ทำกิจกรรมเปิดกรุกับสร้างกรุในเวลาเดียวกัน     หรือ กิจกรรมเปิดกรุกับกิจกรรมสร้างกรุเป็นกิจกรรมเดียวกัน     คือเป็นกิจกรรมที่มี Success Story Technique เป็นแกนนำ หรือเป็นฐาน ในการทำงานด้วยความรู้ที่ “เปิดออกมาจากกรุ” นั้นเอง     มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และหมุนเอาความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่ หรือยกระดับขึ้นจากประสบการณ์ ใส่กลับเข้าไปในกรุ หรือตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา

องค์กรเคออร์ดิค ทะลายกรุมากกว่าสร้างกรุ
ถ้าเราจินตนาการ “กรุขุมทรัพย์” เหมือนเจดีย์โบราณ    ขุมทรัพย์ทางปัญญาขององค์กรเคออร์ดิค ก็ไม่เหมือนกรุขุมทรัพย์ที่เราเข้าใจ     เพราะขุมทรัพย์ทางปัญญาขององค์กรองค์กรเคออร์ดิค มีลักษณะเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา      คล้ายๆ “กรุแตก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน     มีการนำเอา “พระเครื่อง” (หมายถึงความรู้ปฏิบัติ หรือความรู้นอกตำรา) เข้ากรุอยู่เป็นนิตย์     และเอาออกไปใช้งานหรือขัดถูอยู่เป็นนิตย์     ใช้แล้วก็ยกระดับความรู้ขึ้นไปอีก     กรุจึงไม่เป็นกรุอีกต่อไป
องค์กรที่เริ่มต้นเดินทางสู่องค์กรเคออร์ดิค จึงเต็มไปด้วยกรุขุมทรัพย์ทางปัญญา     แต่เมื่อได้อยู่ในวิถี องค์กรเคออร์ดิค ก็จะไม่มีกรุอีกต่อไป     มีแต่วงจรสร้าง ใช้ และทำลายขุมทรัพย์ทางปัญญา อยู่ตลอดเวลา    

ทะลายกรุเท่าไรก็ไม่หมด
คำกล่าวข้างบน ในย่อหน้าที่แล้วอาจจะผิด     เพราะองค์กรเคออร์ดิคนั้นคล้ายสิ่งมีชีวิต     มีสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเอง โดยมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด     และไม่สามารถหยั่งรู้ได้ทั้งหมด    สิ่งเหล่านั้นอาจค่อยๆ ก่อเกิดเป็น “กรุขุมทรัพย์” ใหม่โดยเราไม่รู้ตัว     นี่คือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งขององค์กรเคออร์ดิค
ดังนั้น หน้าที่อย่างหนึ่งของสมาชิกขององค์กรเคออร์ดิค คือการเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดสัมผัสทุกประเภทให้ว่องไวต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม    เพื่อสัมผัสและรับรู้ “กรุขุมทรัพย์ทางปัญญา” ที่ก่อเกิดขึ้นเองภายในองค์กรอย่างอัตโนมัติ

ขุมทรัพย์ที่มีอยู่ภายนอก
ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่เราต้องการ (ใช้เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าตามปณิธานและเป้าหมายขององค์กร) มีอยู่แล้วภายในองค์กรมากมายอย่างน่าพิศวง    แต่ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีอยู่ภายนอกองค์กรยิ่งมีมากกว่าและหลากหลายกว่าหลายสิบหลายร้อยเท่า (หรืออาจเป็นพันเป็นหมื่นเท่า)    และมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการอยู่อย่างรวดเร็ว    ที่สำคัญขุมทรัพย์เหล่านี้เข้าถึงได้ไม่ยากในยุคโลกาภิวัตน์     องค์กรเคออร์ดิคต้องพัฒนาขีดความสามารถในการเข้าถึง ดูดซับ ปรับแต่ง ใช้ และยกระดับความรู้เหล่านั้นให้กลายเป็นความรู้ขององค์กร     ต้องมีความชำนาญในการทำให้ขุมทรัพย์ภายนอกกลายเป็นขุมทรัพย์ภายใน   

หัวใจอยู่ที่การให้ความหมาย
ได้กล่าวแล้วว่า ขุมทรัพย์ทางปัญญา เป็นสิ่งที่มีอยู่ดาดดื่นทั่วไป     มีอยู่แต่เหมือนไม่มี  หรือคล้ายๆ ไม่มีแต่มี     ขึ้นอยู่กับความสามารถในการ “มองเห็น”     ซึ่งเป็นการ “เห็น” ด้วย “ตาใน” ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ    และวิธี “มอง” ให้ “เห็น” ด้วย “ตาใน” ทำได้โดยใช้  “ตาปลา” ที่อยู่ที่ “หัวปลา”
“หัวปลา” ในที่นี้ หมายถึง Knowledge Vision (KV)  ตามโมเดล ปลาทู ของการจัดการความรู้ในแนวทางของ สคส.    เมื่อเอา (KV) มาเป็น “เรดาร์” ก็จะตรวจจับขุมทรัพย์ทางปัญญาได้มากมาย ทั้งจากภายในองค์กร และจากภายนอกองค์กร  
นั่นคือ เราใช้เป้าหมายขององค์กร และเป้าหมายความรู้ที่ต้องการนำมาใช้ทำกิจกรรมหลักขององค์กร เป็นฐานคิด ในการให้ความหมายของสิ่งที่ถือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ต้องการ
     
ขีดความสามารถ (Competency) ขององค์กรอย่างหนึ่งที่ควรตรวจตราหรือประเมิน คือ ขีดความสามารถในการตรวจจับขุมทรัพย์ทางปัญญา เอามาใช้งาน     องค์กรที่ก้าวสู่ความเป็น องค์กรเคออร์ดิค  องค์กรอัจฉริยะ  หรือองค์กรเรียนรู้  จะต้องมีขีดความสามารถในการตรวจจับขุมทรัพย์ทางปัญญาเอามาใช้งานได้เก่งขึ้นเรื่อยๆ      มีเรื่องราวของการนำขุมทรัพย์ทางปัญญามาใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ และหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ   

ที่มา http://www.gotoknow.org/posts/177078

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

 

Sample Text

111

Sample Text